วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กองทุนรวมเพื่อการลงทุน

กองทุน RMF
RMF ย่อมาจากคำว่า Retirement Mutual Fund หรือเรียกในชื่อไทยว่า “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง (กองทุนรวม หมายถึงการนำเงินของผู้ลงทุนหลายๆ คนมารวมกัน แล้วมีมืออาชีพซึ่งก็คือ บริษัทจัดการ คอยบริหารจัดการเงินตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้) ซึ่งมีวัตถุประสงค์พิเศษแตกต่างจากกองทุนรวมทั่วไป คือ RMF เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสะสมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ ที่ทางการให้การสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุนเพื่อเป็นแรงจูงใจ เหมาะกับคนทุกกลุ่มที่ต้องการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ยังไม่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) มารองรับ หรือมีสวัสดิการดังกล่าวแต่ยังมีกำลังออมเพิ่มมากกว่านั้นได้อีก
นโยบายการลงทุนของRMFมีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลายเหมือนกองทุนรวมทั่วไป ตั้งแต่กองทุนที่มีระดับความเสี่ยงต่ำ เน้นลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร กองทุนที่มีระดับความเสี่ยงปานกลางที่อาจผสมผสานระหว่างการลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน ไปจนถึงกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูง เน้นลงทุนในตราสารทุน เช่น หุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิการซื้อหุ้น (warrant)
RMF มีข้อแตกต่างจากกองทุนรวมทั่วๆ ไปอย่างไร
1. หากลงทุนครบตามเงื่อนไขจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
2. ไม่สามารถโอน จำนำ หรือนำหน่วยลงทุนไปเป็น หลักประกันได้
3. ไม่มีการจ่ายเงินปันผล
เงื่อนไขการลงทุนของ RMF เป็นอย่างไรเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี การลงทุนใน RMF มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
• ต้องสะสมเงินอย่างต่อเนื่อง โดยซื้อหน่วยลงทุนของ RMF ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง
• ต้องลงทุนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือ 5,000 บาท (แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะต่ำกว่า)
• ลงทุนสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือไม่เกิน 500,000 บาท
• ต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปี ติดต่อกัน (ยกเว้นปีใดที่ไม่มีเงินไดก็ไม่ต้องลงทุน เนื่องจาก 3% ของเงินได้ 0 บาท เท่ากับ 0 บาท)
• การขายคืนหน่วยลงทุนทำได้เมื่อผู้ลงทุนอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ RMF มีอะไรบ้าง
หากปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน ผู้ลงทุนใน RMF จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีถึง 2 ทางด้วยกัน คือทางที่ 1 เงินซื้อหน่วยลงทุนใน RMF จะได้รับยกเว้นภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในแต่ละปี โดยเมื่อนับรวมกับ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ทางที่ 2 กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน (capital gain) ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้


กองทุน LTF
LTE หมายถึง กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า LTF คือ กองทุนรวมตราสารแห่งทุนประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุน (กองทุนเปิด) ที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่น้อยกว่าร้อยละ65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

  • กองทุนรวมหุ้นระยะยาว เป็นกองทุนที่รัฐให้การส่งเสริมจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้นให้มีเสถียรภาพด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเครื่องจูงใจในการลงทุน โดยกองทุนจะต้องจัดตั้งและจดทะเบียนภายในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2550 และผู้ลงทุนต้องลงทุนภายในช่วงระยะเวลาไม่เกิน พศ.2559 ตามเงื่อนไขการลงทุนที่กฏหมายกำหนด เท่านั้น จึงจะมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
  • LTF มีนโยบายเดียวคือลงทุนในหุ้น แต่อาจมีทั้งแบบจ่ายปันผลและไม่จ่ายปันผลก็ได้ ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีปฏิทินจึงจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สามารถนำไปยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี

เงื่อนไขการลงทุนของ LTF เป็นอย่างไร
เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี การลงทุนใน LTF มีเงื่อนไขว่า เมื่อผู้ลงทุนซื้อ LTF แล้ว ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ ไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับตามปีปฏิทิน โดยเริ่มนับตั้งแต่ปีที่มีการลงทุนครั้งแรกเป็นปีที่ 1 และนับก้อนเงินที่ลงทุนแยกกันไปในแต่ละปี เช่น ลงทุนในระหว่างปี 2547 จะครบ 5 ปีตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 ลงทุนในระหว่างปี 2548 จะครบ 5 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 เป็นต้นไป)

กองทุน ETF
ETF คือ กองทุนเปิดดัชนีที่จดทะเบียน และซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เปรียบเสมือนเป็นหุ้นตัวหนึ่ง ซึ่งมีนโยบายการลงทุนโดยมุ่งเน้นให้ได้อัตราผลตอบแทนเทียบเท่าดัชนีที่ใช้อ้างอิง โดยดัชนีที่ใช้อ้างอิงของ ETF แรกของไทย คือ SET 50 Index ซึ่งการที่ Equity ETF มีการลงทุนในหุ้นที่เป็นองค์ประกอบใน SET50 Index จะทำให้ผู้ลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนได้โดยการลงทุนหน่วยลงทุน ETF
ข้อมูลทางราคาของ ETF จะมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ
1.ราคาซื้อ ขาย (trading price) คือ ราคาซื้อ (bid) และราคาขาย (offer) ที่ปรากฎอยู่บนกระดานซื้อขาย ETF ซึ่งราคานี้จะถูกกำหนดโดยความต้องการซื้อ และความต้องการขาย ของผู้ลงทุน ETF ในตลาด
2.มูลค่าต่อหน่วย (net asset value: NAV) คือ มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนต่อหน่วย ซึ่งคำนวณจากราคาซื้อ ขายของ หุ้นที่เป็นองค์ประกอบใน SET50 Index ณ สิ้นวันทำการ แต่สำหรับ ETF แล้วบริษัทจัดการที่เป็นผู้จัดการกองทุน ETF จะมีการคำนวณและรายงานมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยประมาณทุกนาทีตลอดเวลาทำการซื้อขาย ซึ่งมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยประมาณนี้เรียกว่า Indicative NAV (INAV)
ผลตอบแทนของการลงทุนใน ETF
กำไรจากส่วนต่างของราคา (capital gain) โดยหากผู้ลงทุนที่สามารถซื้อหน่วย ETF ในราคาต่ำแล้วสามารถขายได้ในราคาสูงกว่าตอนที่ซื้อมา จะได้รับกำไรจากส่วนต่างของราคา
เงินปันผล (dividend) ผู้ลงทุนจะได้รับเงินปันผลจากการถือหน่วย ETF ซึ่งได้มาจากเงินปันผลของบริษัทที่เป็นองค์ประกอบของ SET50 Index โดยผู้จัดการกองทุนจะจัดสรรเงินปันผลหลังจากหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของกองทุน

ประโยชน์ของการลงทุนใน ETF
1.ประโยชน์ต่อผู้ลงทุนรายย่อย เป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงโดยใช้เงินลงทุนที่ไม่สูงมากนัก และเสียค่าธรรมเนียมตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานค่อนข้างต่ำ ดังนั้น ETF จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดี สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯมาก่อน
2.ประโยชน์ต่อผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนสถาบันสามารถใช้กลยุทธ์การลงทุนใน ETF แบบ core/satellite investment strategy โดยลงทุนใน ETF ซึ่งมีนโยบายลงทุนตามดัชนีอ้างอิง เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับดัชนีอ้างอิง (portfolio’s performance vs. benchmarks) และส่วนที่เหลือผู้ลงทุนสถาบันสามารถจะลงทุนในหุ้นรายตัว (individual stock) เพื่อหาผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่ผู้ลงทุนมีเม็ดเงินลงทุนใหม่เพิ่งเข้ามา แต่ผู้ลงทุนยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกลงทุนในหุ้นตัวใด การลงทุนใน ETF เอาไว้ก่อนก็จะช่วยให้ผลการดำเนินงานของพอร์ตการลงทุนไม่เบี่ยงเบนไปจาก benchmarks มากจนเกินไป

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ERP คืออะไร

ERP ย่อมาจาก Enterprise Resource Planning หมาย ถึง เป็นการวางแผนการลงทุน และการใช้ทรัพยากรในองค์กรทั้งหมด อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด หรืออาจจะเรียกได้ว่า ERP เป็น เครื่องมือช่วยในการบริหารงานขององค์กร โดยรวมระบบงานหลักต่างๆ ทั้งหมดในบริษัท เข้าด้วยกัน เป็นระบบงานที่สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน เชื่อมโยงกันแบบ Real time ทำให้สามารถบริหาร องค์กรได้อย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพ โดยข้อมูล ของระบบทุกส่วนจะอยู่ในส่วนกลางส่วนเดียวกัน ลดการซ้ำซ้อนของข้อมูล ไม่เกิดความขัดแย้งของข้อมูล รวมทั้งลดกระบวนการทำงาน ทำให้มีการใช้แรงงานและเวลาที่น้อยลง ซึ่งส่งผลให้เป็นการลดต้นทุนด้วย

ERP มีการทำงานแบบ Real time และ การไหลของข้อมูลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การเชื่อมโยงกันของข้อมูลในระบบที่เป็นเส้นทางเดียวกันนี้เอง การไหลของข้อมูลจึงทำให้สามารถรับรู้สถานการณ์และปัญหาของงานต่างๆ ได้ทันที มีผลสำคัญในการตัดสินใจแก้ปัญหาองค์กรได้อย่างรวดเร็วการไหลของข้อมูลการ เชื่อมต่อข้อมูลทำให้เกิดความรวดเร็ว สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้ การดึงเข้าใช้งานของระบบหรือแผนกต่างๆ จะสามารถทำได้ไม่ล่าช้า ข้อมูลที่อยู่ในฐานข้อมูลจะเป็นปัจจุบันที่สุด ทำให้สามารถทำการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด

อีกทั้ง ERP ยังเป็นเครื่องมือสำหรับพยากรณ์การดำเนินงาน การลงทุน หรือการจัดการบริหารงานด้านต่างๆ เช่น การบริหารยอดขายหรือรายจ่ายในอนาคต การบริหารระบบการผลิตต่างๆ ฯลฯ ทำให้ผู้บริหารสามารถกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น หรือวางแผนการดำเนินการล่วงหน้าได้ เพื่อป้องกันปัญหาหรือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ERP ยังเป็นระบบปฎิรูปจิตสำนึกการทำงาน กล่าวคือ การใช้ระบบ ERP อาจ จะต้องปรับเปลี่ยนการทำงาน จึงทำให้เกิดกิจกรรมการปฎิรูปองค์กร ซึ่งทำให้การทำงานเป็นในระบบแบบแผนและมาตรฐานเดียวกัน สร้างผลดีให้กับองค์กร ทำให้สามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรในด้านต่างๆ ได้

บทบาทของ ERP
สภาพ ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลทำให้เกิดการเชื่อมโยงของกิจกรรมสร้างมูลค่าให้กับลูกค้า ของแผนกต่างๆที่เกี่ยวข้อง ยาวและซับซ้อนขึ้น และเมื่อความเชื่อมโยงของกิจกรรมต่างๆ ขยายใหญ่และซับซ้อนขึ้น ถ้าไม่มีระบบข้อมูลในการจัดการที่ดี โอกาสที่จะเกิดปัญหาในการรับรู้สภาพการเชื่อมโยงของกิจกรรมย่อมทำได้ยาก และผลที่ตามมาคือ ข้อมูลมากแต่ไม่รู้ว่าข้อมูลอันไหนที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจที่จะลงทุน และบริหารทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพได้ ดังนั้น ERP ก็ คือเครื่องมือที่นำมาใช้ในการบริหารธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในเชิงบริหารที่เกิดขึ้นดังกล่าวอีกทั้งจะช่วยให้สามารถวางแผนการลงทุนและ บริหารทรัพยากรขององค์กรโดยรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ลักษณะสำคัญของระบบ ERP คือ
1. การบูรณาการระบบงานต่างๆ ของระบบ ERP
จุดเด่นของ ERP คือ การบูรณาการระบบงานต่างๆ เข้าด้วยกัน ตั้งแต่การจัดซื้อ จัดจ้าง การผลิต การขาย บัญชีการเงิน และการบริหารบุคคล ซึ่งแต่ละส่วนงานจะมีความเชื่อมโยงในด้าน การไหลของวัตถุดิบสินค้า (material flow) และการไหลของข้อมูล (information flow) ERP ทำหน้าที่เป็นระบบการจัดการข้อมูล ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการงานในกิจกรรมต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด พร้อมกับสามารถรับรู้สถานการณ์และปัญหาของงานต่างๆ ได้ทันที ทำให้สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาองค์กรได้อย่างรวดเร็ว
2. รวมระบบงานแบบ real time ของระบบ ERP
การรวมระบบงานต่างๆ ของระบบ ERP จะเกิดขึ้นในเวลาจริง(real time) อย่างทันที เมื่อมีการใช้ระบบ ERP ช่วยให้สามารถทำการปิดบัญชีได้ทุกวัน เป็นรายวัน คำนวณ ต้นทุนและกำไรขาดทุนของบริษัทเป็นรายวัน
3. ระบบ ERP มีฐานข้อมูล(database) แบบสมุดลงบัญชี
การที่ระบบ ERP สามารถรวมระบบงานต่าง ๆ เข้าเป็นระบบงานเดียว แบบ Real time ได้นั้น ก็เนื่องมาจากระบบ ERP มี database แบบสมุดลงบัญชี ซึ่งมีจุดเด่น คือ คุณสมบัติของการเป็น 1 Fact 1 Place ซึ่งต่างจากระบบแบบเดิมที่มีลักษณะ 1 Fact Several Places ทำให้ระบบซ้ำซ้อน ขาดประสิทธิภาพ เกิดความผิดพลาดและขัดแย้งของข้อมูลได้ง่าย

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีต่อการจัดการทางการเงิน

ระบบสารสนเทศด้านการเงิน (financial information system)
ระบบการเงิน (financial system) เปรียบเสมือนระบบหมุนเวียนโลหิตของร่างกายที่สูบฉีดโลหิตไปยังอวัยวะต่าง ๆ เพื่อให้การทำงานของอวัยวะแต่ละส่วนเป็นปกติ ถ้าระบบหมุนเวียนโลหิตไม่ดี การทำงานของอวัยวะก็บกพร่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบร่างกาย ระบบการเงินจะเกี่ยวกับสภาพคล่อง (liquidity)ในการดำเนินงาน เกี่ยวข้องกับการจัดการเงินสดหมุนเวียน ถ้าธุรกิจขาดเงินทุน อาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นทั้งโดยตรงและทางอ้อม โดยที่การจัดการทางการเงินจะมีหน้าที่สำคัญ 3 ประการ ดังต่อไปนี้
1. การพยากรณ์ (forecast) การศึกษา วิเคราะห์ การคาดการณ์ การกำหนดทางเลือก และการวางแผนทางด้านการเงินของธุรกิจ เพื่อใช้ทรัพยากรทางการเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนักการเงินสามารถใช้หลักการทางสถิติและแบบจำลองทางคณิตศาสตร์มาประยุกต์ การพยากรณ์ทางการเงิน จะอาศัยข้อมูลจากทั้งภายในและภายนอกองค์การ ตลอดจนประสบการณ์ของผู้บริหารในการตัดสินใจ
2. การจัดการด้านการเงิน (financial management) เกี่ยวข้องกับเรื่องการบริหารเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น รายรับและรายจ่าย การหาแหล่งเงินทุนจากภายนอก เพื่อที่จะ เพิ่มทุนขององค์การ โดยวิธีการทางการเงิน เช่น การกู้ยืม การออกหุ้นหรือตราสารทางการเงินอื่น เป็นต้น
3. การควบคุมทางการเงิน (financial control) เพื่อติดตามผล ตรวจสอบ และประเมินตวามเหมาะสมในการดำเนินงานว่าเป็นไปตามแผนที่กำหนดหรือไม่ ตลอดจนวางแนวทางแก้ไขหรือปรับปรุงให้การดำเนินงานทางการเงินของธุรกิจมีประสิทธิภาพ โดยที่การตรวจสอบและการควบคุมการทางการเงินของธุรกิจ สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภทดังต่อไปนี้
- การควบคุมภายใน (internal control)
- การควบคุมภายนอก (external control)
ระบบสารสนเทศด้านการเงิน (finalncial information system) เป็นระบบสารสนเทศที่พัฒนาขึ้นสำหรับสนับสนุนกิจกรรมทางด้านการเงินขององค์การ ตั้งแต่การวางแผน การดำเนินงาน และการควบคุมทางด้านการเงิน เพื่อให้การจัดการทางการเงินเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยที่แหล่งข้อมูลสำคัญในการบริหารเงินขององค์การมีดังต่อไปนี้
1. ข้อมูลจากการดำเนินงาน (operatins data) เป็นข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติงานของธุรกิจ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการควบคุม ตรวจสอบ และปรับปรุงแผนการเงินขององค์การ
2. ข้อมูลจากการพยากรณ์ (forecasting data) เป็นข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมและประมวลผล เช่น การประมาณค่าใช้จ่ายและยอดขายที่ได้รับจากแผนการตลาด โดยใช้เทคนิคและแบบจำลองการพยากรณ์ โดยที่ข้อมูลจากการพยากรณ์ถูกใช้ประกอบการวางแผน การศึกษาความเป็นไปได้ และการตัดสินใจลงทุน
3. กลยุทธ์องค์การ (corporate strategy) เป็นเครื่องกำหนดและแสดงวิสัยทัศน์ ภารกิจ วัตถุประสงค์ แนวทางการประกอบธุรกิจในอนาคต เพื่อให้องค์การบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ โดยที่กลยุทธ์จะเป็นแผนหลักที่แผนปฏิบัติการอื่นต้องถูกจัดให้สอดคล้องและส่งเสริมความสำเร็จของกลยุทธ์
4. ข้อมูลจากภายนอก (external data) ข้อมูลทางเศรษฐกิจและการเงิน สังคม การเมือง และปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อธุรกิจ เช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นต้น โดยข้อมูลจากภายนอกจะแสดงแนวโน้มในอนาคตที่ธุรกิจต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ระบบสารสนเทศด้านการบัญชีและระบบสารสนเทศด้านการเงินจะมีความสัมพันธ์กัน เนื่องจากข้อมูลทางการบัญชีจะเป็นข้อมูลสำหรับการประมวลผลและการตัดสินใจทางการเงิน โดยนักการเงินจะนำตัวเลขทางการบัญชีมาประมวลผลตามที่ตนต้องการ เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับสนับสนุนการตัดสินใจทางการเงิน
ระบบสารสนเทศทางการเงิน
ระบบสารสนเทศทางการเงิน ทำหน้าที่หลักทางการเงิน (finance) เกี่ยวกับการคาดการณ์ทางการเงิน ได้แก่ แสดงจำนวนเงินที่จะเข้าสู่กิจการแหล่งที่มาการใช้จ่าย การจัดการเงินทุน เช่น แหล่งเงินทุน การกู้ ออกพันธบัตรเงินกู้ ออกหุ้น รวมกิจการ และ การตรวจสอบ เช่น งบรายได้ งบกำไรขาดทุนงบดุลระบบสารสนเทศทางการเงิน (Finance) การจัดทำรายงานทางการเงิน การลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ
1. หน้าที่หลักทางการเงิน
1.1 การคาดการณ์ทางการเงิน แสดงจำนวนเงินที่จะเข้าสู่กิจการ แหล่งที่มาการใช้จ่าย ต.ย. การใช้แบบจำลองกระแสเงินสด
1.2 การจัดการเงินทุน แหล่งเงินทุน การกู้ ออกพันธบัตรเงินกู้ ออกหุ้น รวมกิจการ สามารถใช้แบบจำลองทางเลือกต่าง ๆ สำหรับบริหารเงิน
1.3 การตรวจสอบ (auditing)
- เป็นไปตามแผนที่กำหนดหรือแนวทางที่กำหนด
- การตรวจสอบภายใน (internal audit) การเงิน การปฏิบัติการ
- การตรวจสอบภายนอก (external audit) โดยผู้ตรวจสอบบัญชีอิสระ
ผลการตรวจสอบทางการเงิน จะได้ งบรายได้ งบกำไรขาดทุน งบดุล
2. แหล่งสารสนเทศทางการเงิน
2.1 ข้อมูลประมวลผลธุรกรรม
2.2 ข้อมูลการคาดการณ์ภายใน จากฝ่ายต่าง ๆ เช่น ยอดขาย รายได้
2.3 ข้อมูลเงินทุน (funding data) แหล่งเงินทุน เงื่อนไข การปันผล การจ่ายดอกเบี้ย
2.4 ข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์ (portfolio data) หลักทรัพย์ที่กิจการถือ ราคาตลาดหลักทรัพย์
2.5 ข้อกำหนดกฎเกณฑ์ของรัฐบาล เช่น การลดค่าเงินบาท อัตราดอกเบี้ย
2.6 ข้อมูลสภาวะภายนอก เช่น ราคาหุ้น อัตราดอกเบี้ย ทิศทางของกิจการ
2.7 แผนกลยุทธ์ การกำหนดแผนการเงินจะต้องสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของกิจการ
3. ตัวอย่างระบบสารสนเทศทางการเงิน
3.1 การจัดการเงินสดและหลักทรัพย์ (cash/credit/investment management)
- ข้อมูลเงินสดรับและออก
- ใช้สำหรับการลงทุนกับเงินทุนส่วนเกิน
- มีแบบจำลองทางคณิตศาสตร์การเก็บเงินสด software
3.2 งบประมาณการลงทุน (capital budgeting)
- การวิเคราะห์ การลงทุนโรงงาน เครื่องจักร อุปกรณ์ ความเสี่ยง
3.3 การวางแผนการเงิน (financial planning)
- ประเมินสมรรถนะทางการเงินของธุรกิจ ในปัจจุบันและที่คาดการณ์
- วิเคราะห์ทางเลือกทางการเงินของกิจการ
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการเงิน
ทำหน้าที่ในการจัดการสารสนเทศด้านการเงินให้แก่ผู้บริหารและกลุ่มบุคคลซึ่งต้องการทำการตัดสินใจได้ดีขึ้นและช่วยในการหาโอกาสและปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยระบบ สารสนเทศด้านการเงินนิยมใช้รวมเข้ากับซอฟต์แวร์ในการวางแผนทรัพยากรขององค์กร (Enterprise Resource Planning : ERP) ซึ่งเป็นกลุ่มของโปรแกรมที่จัดการ วิเคราะห์และติดตามการดำเนินธุรกิจของแหล่งผลิตหรือสาขาต่างๆ ขององค์กร เพื่อให้แน่ใจว่าสารสนเทศด้านการเงินในการปฏิบัติงาน สามารถนำไปใช้สนับสนุนความสามารถในการตัดสินใจให้แก่บุคคลที่ต้องการได้ทันเวลา ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการเงินมีความสามารถการทำงานดังต่อไปนี้
1. รวบรวมสารสนเทศด้านการเงินและการดำเนินงานจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้าไว้ในระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการเพียงระบบเดียว
2. สนับสนุนผู้ใช้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับด้านการเงินและผู้ใช้อื่น ๆ ของบริษัท ให้สามารถเรียกใช้ข้อมูลและ สารสนเทศทางด้านการเงินผ่านทางเครือข่ายในองค์กรได้ง่าย
3. เตรียมข้อมูลด้านการเงินที่มีอยู่ให้พร้อมต่อการใช้งาน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
4. สามารถวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเงินได้หลายมิติ เช่น วิเคราะห์ตามช่วงเวลา, ภูมิประเทศ,ผลิตภัณฑ์, โรงงานผลิต หรือลูกค้าได้
5. วิเคราะห์การดำเนินงานด้านการเงินที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้
6. ติดตามและควบคุมการใช้เงินทุนได้ตลอดเวลา ส่วนที่นำเข้าไปในระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการเงิน ได้แก่
1. แผนเชิงกลยุทธ์และนโยบายของบริษัท ในแผนกลยุทธ์จะประกอบด้วย วัตถุประสงค์ด้านการเงินของบริษัท เช่น เป้าหมายของผลกำไรที่ต้องการ, อัตราส่วนของหนี้สินและเงินกู้, ค่าคาดหวังของผลตอบแทนที่ต้องการ เป็นต้น
2. ระบบประมวลผลรายการ สารสนเทศด้านการเงินที่สำคัญจะมาจากโปรแกรมการประมวลผลรายการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมเงินเดือน, โปรแกรมควบคุมสินค้าคงคลัง, โปรแกรมสั่งซื้อสินค้า, โปรแกรมบัญชีรายรับ-รายจ่าย, และโปรแกรมใบสั่งซื้อทั่วไป โดยข้อมูลที่ได้จากโปรแกรมเหล่านี้ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนรวม, เงินลงทุนในคลังสินค้า, ยอดขายรวม, ปริมาณเงินที่จ่ายให้กับแหล่งผลิตสินค้า, ปริมาณหนี้รวมของลูกค้าที่มีต่อบริษัทและรายละเอียดข้อมูลบัญชีต่าง ๆ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปสร้างเป็น รายงานด้านการเงิน เพื่อใช้ในการตัดสินใจต่อไป
3. แหล่งข้อมูลภายนอก ได้แก่ สารสนเทศเกี่ยวกับคู่แข่งขัน อาจได้มาจากรายงานประจำปีของบริษัทคู่แข่ง, หนังสือพิมพ์, สื่อต่าง ๆ เช่นเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงสารสนเทศเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศหรือของโลก เช่น สภาวะเงินเฟ้อ, อัตราภาษี เหล่านี้เป็นต้นระบบย่อยและผลที่ได้จากระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการเงิน ระบบย่อยในระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการเงิน ขึ้นอยู่กับองค์กรและความต้องการขององค์กรนั้น โดยอาจประกอบด้วยระบบภายในและระบบภายนอกที่ช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการประมวลผลทางธุรกิจของบริษัท เช่น ระบบการจัดหา, การใช้, และการควบคุมเงินสด, ระบบเงินทุนและแหล่งการเงินอื่น ๆ และอาจจะประกอบด้วย ระบบย่อยในการหากำไร/ขาดทุน, ระบบบัญชีค่าใช้จ่ายและระบบการตรวจสอบ โดยระบบต่างๆ เหล่านี้จะทำงานประสานกับระบบประมวลผลรายการ เพื่อให้ได้สารสนเทศที่ผู้จัดการด้านการเงินสามารถนำไปใช้ตัดสินใจได้ดีขึ้น ดังนั้นผลลัพธ์ที่ได้จากระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการเงิน ได้แก่ รายงานด้านการเงินต่าง ๆ เช่น รายงานกำไร/ขาดทุน, รายงานระบบค่าใช้จ่าย, รายงานการตรวจสอบภายในและภายนอกและรายงานการใช้และการจัดการเงินทุน เป็นต้น